ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ (เกิด 4 มกราคม พ.ศ. 2516) เป็นนักประพันธ์ดนตรี นักวิชาการดนตรี และนักดนตรี เชี่ยวชาญในเครื่องดนตรี แซกโซโฟนและคลาริเน็ต เป็นสมาชิกหนึ่งใน วง อ.ส. วันศุกร์
ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ เป็นบุตรของเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ เข้าเฝ้าถวายรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านดนตรีอยู่เนืองๆ ได้รับพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ให้ร่วมบรรเลงดนตรี ในวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ตั้งแต่อายุเพียง 14 ขวบ และทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ เพื่อให้ไปศึกษาด้านดนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2544 จนกระทั่ง เด็กชายภาธร ได้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญาเอกทางด้านดนตรี เป็น ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ณ ปัจจุบันนี้
ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทุนการศึกษา เพื่อศึกษาวิชาการด้านดนตรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Bachelor of Music in Composition and Saxophone Performance จาก มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ ปริญญาโท Master of Music in Composition จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Music Composition จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักรฯ
ผลงานการประพันธ์ดนตรีที่ทำชื่อเสียงในช่วงแรก คือ Sonata for Soprano Saxophone and Piano ซึ่งหลังจากที่ได้นำออกแสดงรอบปฐมทัศน์ในปี 2535 ที่เมือง Oberlin รัฐโอไฮโอ ก็ได้รับการทาบทามจาก บริษัท Dorn Publications ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ โน้ตเพลงเครื่องเป่าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นผู้พิมพ์จัดจำหน่ายผลงานของภาธร ซึ่งในขณะนั้น นอกจากจะเป็นนักประพันธ์ชาวไทยคนเดียวแล้ว ยังเป็นนักประพันธ์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสังกัดอีกด้วย หลังจากนั้น ภาธรได้มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในหลายรูปแบบ อาทิ Song Cycle ชุด ฝนร่ำ…ใบไม้ร่วง (พ.ศ. 2540) ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ ให้ประพันธ์ถวาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตก ที่จังหวัดนราธิวาส เพลง Portrait of Siam สำหรับ คลาริเน็ต และเปียโน (พ.ศ. 2541) ได้รับรางวัล Lyra Prize จาก Foundation for Hungarian Performing Arts เพลง Quintett f?r Klavier und Streichquartett ได้รับมอบหมายจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ให้ประพันธ์สำหรับงานเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 140 ปีแห่งสัมพันธภาพ ระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี สังคีตนาฏกรรมเรื่อง เงาะป่า (พ.ศ. 2543) ซึ่งเป็นบทประพันธ์แบบโอเปร่าเรื่องแรก ที่เป็นภาษาไทย และเพลงประกอบการแสดงบัลเลต์ เรื่องกาฬเกสและมาลีจันทร์ (พ.ศ. 2548) ซึ่งใช้ท่วงทำนองและแนวทางการประพันธ์ผสมผสานดนตรีตะวันตกกับดนตรีพื้นบ้านอีสาน
ดนตรีประพันธ์ชิ้นล่าสุดของภาธรคือ E se mais mundo houvera, l? chegara… สำหรับนักร้องเสียงบาริโทน คณะนักร้องประสานเสียง และออร์เคสตรา ซึ่งได้รับมอบหมายจากสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ให้ประพันธ์ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชครบ 60 ปี และได้บรรเลงถวายหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวง Orquestra “Dia de Portugal” ในวันชาติของโปรตุเกส ปี 2549 โดยผู้ประพันธ์ได้อำนวยวงเอง
ภาธรได้มีโอกาสแสดง แซ็กโซโฟนและคลาริเน็ตบ่อยครั้ง และเคยได้เล่นร่วมกับ วงออเคสตร้าที่มีชื่อเสียงหลายวง อาทิเช่น วงดุริยางค์กรมศิลปากร (NSO) วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) และ Orchestre National de Lille ของประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมเล่นแจ๊ส กับนักดนตรี ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิเช่น Benny Carter, J.J. Johnson, Gary Burton, Jimmy Health, Milt Hinton, Urbie Green ฯลฯ
ภาธรเคยได้รับรางวัลต่างๆหลายรางวัลด้วยกัน อาทิเช่น รางวัล Best Performance ในการเล่นคลาริเน็ตและบาริโทน แซ็กโซโฟน ที่งาน Tri C Jazz Festival ที่ Cleveland, Ohio และ รางวัล Best Improviser ที่งาน Collegiate Jazz Festival ที่มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ในปี 2546 ได้รับ Certificate of Commendation จากรัฐบาลเมืองลอสแอนเจลิส ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีผลงานและทำประโยชน์ให้กับประชาคม ชาวคาลิฟอร์เนีย และในปี 2548 ได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ จากนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ งานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติอย่างดียิ่ง
ภาธรเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก ของวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรรับเชิญให้กับสถาบันศึกษาต่างๆ อาทิเช่น โรงเรียนดนตรีสยามกลการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันภาธรเป็นนักดนตรีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่มีอายุน้อยที่สุด เป็นนักประพันธ์ดนตรีอิสระ ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการสภา และผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการอำนวยการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอนุกรรมการในหลายคณะของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนมและนราธิวาสราชนครินทร์ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นกรรมการรับเชิญ ตัดสินการประกวดดนตรีหลายแห่ง อาทิเช่น การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียนแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ การประกวดวงดนตรีแจ๊สแห่งประเทศไทยในระดับมัธยมศึกษา และ การประกวดดนตรีสากลต่อต้านยาเสพติดในโครงการโรงเรียนสีขาว